องค์การบริหารส่วนตำบลลำไทรโยง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ :www.lamsaiyong.go.th

 
 

 

 

 


ประชาสัมพันธ์ การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด


       ทารกคลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดทารกก่อน หรืออายุครรภ์เท่ากับ 37 สัปดาห์เป็นทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค และการเสียชีวิต เนื่องจากอวัยวะระบบต่างๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทารกยิ่งคลอดก่อนกำหนดเร็วก็ยิ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะในระบบต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น จากสถิติพบว่าอัตราการเกิดของเด็กไทยในปัจจุบันประมาณ 800,000 คน ต่อปี มีอัตราการเกิดของเด็กคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 8 - 10 ต่อปี ส่งผลให้อวัยวะของทารกพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ด้วยเหตุนี้ทารกคลอดก่อนกำหนดจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ และพยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

    เพื่อช่วยให้ทารกรอดชีวิต และมีความพิการหลงเหลือน้อยที่สุดสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดมีได้หลายปัจจัย เช่น

  • ปัจจัยจากแม่ อาจมาจากการทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือมีภาวะติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ติดเชื้อในช่องคลอดทางเดินปัสสาวะ หรือแม่มีภาวะน้ำเดินก็จะเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
  • ปัจจัยของลูก เด็กในครรภ์มีความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เช่น โรคทางพันธุกรรม มีภาวะรกเสื่อม เด็กเติบโตไม่ได้จึงกระตุ้นให้มีการคลอด นอกจากนี้ ยังมีทารกแฝดบางรายที่อาจมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน

ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทารกคลอดก่อนกำหนด
ปัญหาของทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีมากมาย เช่น มีน้ำหนักตัวน้อย การทำงานของปอดไม่สมบูรณ์ทำให้มีปัญหาการหายใจที่ผิดปกติตามมา มีภาวะเลือดออกในสมอง ส่งผลต่อระบบสมองที่อาจมีความพิการเกิดการติดเชื้อตามมาได้ง่าย ภาวะลำไส้อักเสบ

                  ภาวะหายใจลำบากจากการขาดสารลดแรงตึงผิวเป็นปัญหาของระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด ยิ่งอายุครรภ์น้อยโอกาสเกิดยิ่งมากขึ้น สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เป็นตัวพยุงทำให้ถุงลมในปอดไม่แฟบเมื่อหายใจออก และเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ปกติ แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะยังไม่สามารถสร้างสารลดแรงตึงผิวได้เพียงพอ จึงทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าชได้ เกิดการขาดออกซิเจน และแสดงอาการหายใจลำบาก โดยเด็กจะหายใจเร็ว อกบุ๋ม จมูกบาน ตัวเขียว และส่งผลต่อระบบอื่นในร่างกายตามมาได้ นอกจากนี้การคลอดก่อนกำหนดจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายของเด็ก ที่พบบ่อยมี ดังนี้

  • น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์
  • ปัญหาการติดเชื้อ เพราะระบบภูมิคุ้มกันอาจจะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ อีกทั้งผิวหนังจะบางมากทำให้เชื้อโรคแทรกตัวเข้าในผิวหนังได้ง่าย จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
  • ปัญหาระบบลำไส้ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เมื่อออกซิเจนไปเลี้ยงไม่พอลำไส้ก็ขาดเลือด และมีโอกาสเกิดลำไส้อักเสบ หรือลำไส้เน่าตามมา
  • ปัญหาระบบหัวใจ และหลอดเลือด มีโอกาสตรวจพบเส้นเลือดหัวใจเกินได้มากกว่าทารกที่คลอดครบตามกำหนด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้
  • ปัญหาการมองเห็นในทารกคลอดก่อนกำหนด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะจอประสาทตาผิดปกติสูงกว่าทารกที่คลอดครบตามกำหนด จากการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ของจอประสาทตา จึงควรตรวจจอประสาทตากับจักษุแพทย์เป็นระยะหลังคลอด
  • พัฒนาการช้า บางรายมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กที่คลอดครบตามกำหนด ซึ่งต้องได้รับการประเมิน และกระตุ้นพัฒนาการหลังคลอดเป็นระยะ




2024-04-22
2024-03-04
2024-03-04
2024-01-29
2024-01-16
2024-01-15
2023-12-11
2023-12-05
2023-10-23
2023-08-11